Niche Market น้อย แต่ เน้น

Niche Market น้อย แต่ เน้น


รูปจาก:http://www.inc.com/ 




ในยุคที่ฮิปสเตอร์กระจายตัวอยู่ทั่วทุกสารทิศ  ในยุคที่ใครๆต่างก็หันมาดำเนินชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์
เพราะคนเราเริ่มให้ความสำคัญกับตัวเองมากขึ้น ใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองต้องการมากกว่ากระแสธารที่
ไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ฉะนั้นอะไรที่มัน แมส(Mass) มากๆจนเกินไปมันอาจจะไม่เหมาะกับตัวตน
หรือไม่ตรงกับความต้องการของเราซะทุกอย่าง การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market 
จึงดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

Niche Market ก็คือ ตลาดที่ถูกแบ่งย่อยโดยมุ่งไปยังผู้ที่มีความต้องการ ความจำเป็น ความอยาก
ที่มีลักษณะแปลก แตกต่างไปจากคนกลุ่มใหญ่  นักการตลาดได้ มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่ความต้องการพิเศษ
โดยจะมองเฉพาะกลุ่มๆไป เช่น ตลาดทั่วไปคือรองเท้า แต่ถ้าเป็น นีชมาร์เก๊ตจะเป็นตลาดที่
ลงลึกเข้าไปอีก อาจจะเป็น รองเท้าผ้าใบ รองเท้ากีฬา รองเท้าทรงย้อนยุค 
รองเท้าผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนเหล่านี้ก็มักจะเป็นของแปลกๆ หรือ สินค้าทั่วไป ที่มีคุณสมบัติพิเศษ
หรือมีคุณลักษณะที่ต่างไปจากคนทั่วไป เช่น ผู้ที่นิยม Kitty กลุ่มผู้ที่รักสุภาพ 
กลุ่มผู้รักษ์โลก กลุ่มผู้ที่นิยมขับขี่มอเตอร์ไซด์ ผู้ที่นิยมรถโบราณ
แปงสีฟันสำหรับผู้จัดฟัน ชุดชั้นในผู้หญิงสำหรับผู้ชาย ชุดคอสเพลย์สำหรับคู่รัก ฯลฯ

ตลาดกลุ่มนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่

1.ผู้ประกอบการมีไม่มาก หรือแทบจะไม่มีเลย
2.การแข่งขันกันมีน้อย
3.สามารถตั้งราคาสูงได้หากตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

หากว่าคุณเริ่มจะสนใจขึ้นมาแล้ว เราลองมาดูขั้นตอนที่จะเข้าไปอยู่ใจกลาง
คนเหล่านี้ว่า ควรจะเริ่มจากตรงไหน แล้วต้องทำอะไรบ้าง

1.รู้จักตลาดเป้าหมายเหมือนเข้าไปอยู่ในกลางใจพวกเขา

การที่จะเจาะตลาดที่มีความเฉพาะตัวพิเศษนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลมากๆ
คุณต้องพยายามรู้ความต้องการที่แท้จริงของตลาดกลุ่มนี้ให้ได้
และยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน คุณจำเป็นต้องตามให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง
พร้อมทั้งปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงนั้น


2.เติมเต็มส่วนที่ขาด

เมื่อเรารู้จักตลาดเป้าหมายของเราดีพอแล้ว ทีนี้เราต้องเติมเต็มในส่วนที่ขาดหาย
ซึ่งสินค้าหรือบริการในตลาดโดยรวม มองข้าม หรือไม่ให้ความสำคัญ
และจะให้ดีไปกว่านั้นคุณจำเป็นต้องมีสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เปรียบเสมือนเพื่อนที่ไว้ใจ
คอยปรับทุกข์เวลามีปัญหา การที่ลูกค้าบ่น หรือ แสดงความต้องการนอกเหนือจาก
ที่ผลิตภัณฑ์เรามีอยู่ นั้นถือว่าลูกค้ายัง หวังที่จะใช้สินค้าเราต่อไป  เราต้องรับฟัง
ชี้แจง และหาทางแก้ไข อย่าปล่อยให้ลูกค้าต้อง เผชิญปัญหาอย่างเดียวดาย

3.เลือกช่องทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมการตลาด

เพราะลูกค้าเราคือกลุ่มที่มีความพิเศษ ฉะนั้น การจะใช้ช่องทางแบบธรรมดาทั่วไปนั้น
ย่อมจะสื่อไปถึงลูกค้าเราได้ยาก อาจจะต้องใช้ช่องทาง Social Media เข้ามาช่วย
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยตอนนี้มีร้านหนังสืออิสระเกิดขึ้นอยู่บ้าง จากการที่คนเขียน
หรือสำนักพิมพ์เล็กๆออกขายหนังสือในแนวที่คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ หรือไม่ได้รับความนิยมมากนัก
รวมทั้งยังขจัดปัญหา ค่าหนังสือที่แพงเกินไปหากนำไปฝากร้านดังๆ เพราะต้องมีต้นทุนเก็บรักษามาก
และนาน(ก็หนังสือมันขายไม่ค่อยออกนี่นะ- -) ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีรูปแบบที่ต่างกันไป
อย่างในกรุงเทพก็มีร้าน “Bookmoby” ที่เน้นหนังสือในแนวความรู้ สังคม วัฒนธรรม 
วรรณกรรมสร้างสรรค์และวรรณกรรมแปล ซึ่งเป็นหนังสือที่อาจหาได้ยากในร้านหนังสือทั่วไป
หรือไม่สามารถวางในร้านหนังสือทั่วไปได้แบบระยะยาว พร้อมกับตกแต่งร้านให้สะท้อนรสนิยมการอ่าน
ของคนรุ่นใหม่ให้อยากมาซื้อที่ร้าน นอกจากนี้ก็ยังต่อยอด ด้วยการเปิดเว็บไซต์ e-commerce ชื่อ www.bookmoby.com เพื่อขายหนังสือออนไลน์เป็นการอำนวยความสะดวกและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

4.ยอมลงทุน กับการใช้บริการในเสิร์ชเอนจิน

เมื่อความต้องการของตลาดเราแตกต่าง การที่พวกเขาจะเดินหาซื้อสินค้าตามท้องตลาดคงเป็นเรื่องยาก
ในยุคที่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนอวัยะที่ 33 ในยุคที่โพสถามการบ้านในพันทิป
ในยุคที่นึกอะไรไม่ออกก็ เสิร์ชกูเกิ้ล ฉะนั้นเรามีหน้าที่ ที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้หน้าเว๊ปเราขึ้นไปเสนอหน้า
บนหน้าแรกของเสิร์ชเอนจินให้ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธี แต่ถ้าจะให้อธิบายตอนนี้คงยาว ใครใจร้อน
ไปเสริชกูเกิ้ลดูก่อนแล้วกัน

5.อ้าแขนรับสำหรับโอกาสใหม่ๆที่จะเข้ามา

ถึงแม้ว่าตลาดของเราจะเป็นกลุ่มเล็กๆ คนที่เข้ามาแข่งขันจะมีไม่มาก แต่อย่าลืมว่าความไวของ
เทคโนโลยีการสื่อสารนั้นมีอานุภาพเพียงใด อะไรที่ไม่น่าเป็นกระแส วันดีคืนดีกลับดังเปรี้ยงขึ้นมา
ทีนี้ทุกอย่างก็จะเข้ามายื้อแย่งกัดกินชิ้นเนื้อที่คุณคาบอยู่ไว้ และกลยุทธ์แรกๆที่จะเจอเลยคือการ
โดนตัดราคา ลองคิดดูหากวันหนึ่ง จากเคยได้กำไรมากมาย อาจจะต้องยอมลดราคามาขายในราคาทุน
ความเสียหายจะมากมายขนาดไหน  ฉะนั้นถ้ามีโอกาสเพิ่มจำนวนสายของผลิตภัณฑ์ได้ก็จงทำซะ
และอย่าหยุดนิ่งอยู่กับที มองหาโอกาสใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ


ทิ้งท้ายไว้ที่ การจะเข้ามาใน "นีช มารเก็ต" นั้น ต้องทำสิ่งที่เราเชี่ยวชาญพอสมควร
และต้องหมั่นหาข้อมูลหรือฟี้ดแบ๊ก เพื่อพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมให้ใหม่อยู่เสมอ
จำเอาไว้ว่าไม่มีใครยอมให้เรารวยอยู่คนเดียวหรอก


นฤพนธ์ อินทวงศ์

Previous
Next Post »